หน้าเว็บ

วันพุธที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2554

การทำช็อกโกแล็ต

อุปกรณ์ที่ใช้




ช็อกโกแลต

ที่ซื้อมาก็คือ ดาร์คช็อกโกแลตแบบแท่งยี่ห้อ Sarotti No. 1 Ecuador 72% Cocoa น้ำหนัก 100 กรัม 94 บาท และไวท์ช็อกโกแล็ตแบบก้อนเล็กยี่ห้อ Morinaga Dars น้ำหนัก 50 กรัม 29 บาท (ราคาลดจากปกติ 42 บาท) ดาร์คช็อกโกแลตมีน้ำตาลแค่ 24% เท่านั้นเอง ส่วนไวท์ช็อกโกแลตมี 42%

แม่พิมพ์

ไปได้พิมพ์รูปหัวใจขนาดกลางและใหญ่แบบนี้ที่ร้านไดโซ อันละ 60 บาทเท่ากัน

ถ้วยกระเบื้อง

เอาไว้เป็นภาชนะตุ๋นช็อกโกแลต บางสูตรบอกว่าเอากระเบื้องทนไฟ แต่เพราะที่บ้านไม่มีก็เลยเอาถ้วยชามข้าวนี่แหละง่ายดี

หม้อ

สำหรับใส่น้ำต้มให้ร้อน แล้วเอาถ้วยกระเบื้องวางเพื่อให้ช็อกโกแลตร้อนจนละลาย

วิธีทำช็อคโกแลตทำมือ

1. ลองวางถ้วยกระเบื้องในหม้อ ตวงน้ำใส่ในหม้อให้อยู่ในระดับ 1/2 ของถ้วย เอาแค่ครึ่งเดียวพอ เดี๋ยวเกิดน้ำเดือดกระฉอกเข้าถ้วยช็อกโกแลตละเสร็จกัน ระวังอย่าให้มีน้ำหกในถ้วยกระเบื้อง ถ้ามีต้องเช็ดออกให้แห้งก่อนใส่ช็อกโกแลต

2. เอาถ้วยออกมา แล้วหักช็อกโกแลตเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใส่ในถ้วย

3. เริ่มต้มน้ำในหม้อด้วยไฟกลาง-อ่อน ให้น้ำร้อนปานกลางเกือบเดือด ระหว่างนี้ก็เตรียมพิมพ์

4. ใช้ไฟอ่อน เอาถ้วยใส่ช็อกโกแลตวางลงไปตรงกลางหม้อ หมั่นคนให้ละลาย

5. เมื่อช็อกโกแลตละลายดี ผิวหน้าเป็นมันก็ยกลง ใช้เวลาประมาณ 5 นาที

6. ใช้ช้อนตักช็อกโกแลตใส่ในพิมพ์

7. ทิ้งไว้ให้เย็นหรือเอาเข้าตู้เย็นสักพัก แกะออกจากพิมพ์โดยคว่ำพิมพ์แล้วตบก้น

ข้อแนะนำอื่น ๆ

• ถ้ามีเตาไมโครเวฟ ก็ใส่ช็อกโกแลตในถ้วยเอาเข้าไมโครเวฟ ไฟ 70 องศา นาน 30 วินาที แล้วนำออกมาคน ถ้าช็อกโกแลตยังละลายไม่หมด ให้อบต่ออีก 15-30 วินาทีจนกว่าจะละลายหมด

• อาจใส่อัลมอนด์บดหรือถั่วผสมลงในขั้นตอนที่ 4 ก็ได้

ข้อควรระวัง

• อย่าให้น้ำหยดลงในหม้อขณะตุ๋นช็อกโกแลตเด็ดขาด ช็อกโกแลตจะแตกตัวไม่เกาะกัน (ดังนั้นไม่ต้องปิดฝาเพราะจะทำให้มีไอน้ำเกาะ)

ทีนี้มารีวิวกันอีกทีว่าไอ้ที่เรามั่วซั่วทำ ขลุกขลักยังไงบ้าง 555

1. ถ้วยกระเบื้องกับหม้อใส่น้ำ

วันแรกที่ลองทำไวท์ช็อกโกแลต ลืมไปว่าต้องเอาถ้วยใส่ในน้ำร้อนแล้วดันใช้ถ้วยใหญ่จนเหลือช่องนิดเดียวให้แหย่นิ้ววางถ้วย ดุ๊ก ๆ ดิ๊ก ๆ อยู่เป็นนานกว่าจะวางลงไปได้ วันที่สองทำดาร์คช็อกฯ ก็เลยเปลี่ยนมาใช้เป็นถ้วยขนาดเล็กลงมาหน่อย

2. การหักช็อกโกแลต

ตอนทำไวท์ช็อกฯ มันเป็นก้อนเล็ก ๆ อยู่แล้วเลยไม่ลำบาก เทพรวดจากถาดได้เลย แต่อีตอนทำดาร์คช็อกฯ นี่ต้องใส่ถุงพลาสติกหักเป็นชิ้นย่อยเพราะกลัวมือเหงื่อออกแล้วจะทำให้มีผลต่อการเกาะตัวของช็อกโกแลตทีหลัง พลาดไปนิดตรงที่ไม่ได้หักให้มันย่อยไปอีกเลยต้องออกแรงบี้ช็อกฯ กันอีทีในชามหน้าเตาร้อน ๆ เฮ่อ…

3. การตุ๋น

ตอนแรกใส่ถ้วยลงไปแล้วดันลืมเบาไฟ น้ำเลยเดือดปุด ๆ จนถ้วยสั่นเป็นเจ้าเข้า ต้องรีบเบาไฟให้อ่อนที่สุด เพราะกลัวน้ำกระฉอกเข้าถ้วยซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นก็เอวัง

4. การตักช็อกโกแลตเหลวใส่พิมพ์

วันแรกที่ลองทำปรากฎว่าไวท์ช็อกโกแลตเหลวที่ได้ค่อนข้างข้นหนืด เวลาตักใส่พิมพ์นี่ต้องใช้ช้อนเขี่ยปาด ๆ ให้เต็มพิมพ์ แล้วก็มาเจอปัญหาว่า ผิวหน้าไม่เรียบ ช็อกฯ ตั้งขึ้นเป็นยอดสูงปรี๊ดเชียว เลยต้องแก้ไขโดยการเอามีดปาดผิวหน้าให้ช็อก ฯ เรียบพอดีถาดพิม์ (รีบไปหน่อย มีดที่คว้ามาดันเป็นอีโต้สับหมูซะนี่ -”-) ปาดแล้วถาดพิมพ์ก็เลยดูเลอะ ๆ หน่อย พอใส่พิมพ์เล็กไปสองหลุมแล้วก็มาใส่พิมพ์ใหญ่ คิดว่าจะทำเล็กสองใหญ่สอง แต่ปรากฏว่าช็อกโกแลตดันเหลือไม่พอทำขนาดใหญ่อีกอันเลยต้องตักออกไปใส่หลุมถาดเล็ก ไอ้หลุมถาดใหญ่อันนึงก็เลยมีเศษค้างไว้ สรุปคือ ไวท์ช็อกโกแลต 50 กรัม x 2 กล่องทำใส่พิมพ์เล็กได้ 3 หลุม + พิมพ์ใหญ่ 1 หลุม



พอวันที่สองใช้ดาร์คช็อกโกแลต ช็อกฯ ที่ได้เหลวใช้ได้เลย ใช้ช้อนตักใส่พิมพ์ปุ๊บก็จะแผ่เต็มหลุมเอง แม้ว่าพอตักจนเต็มแล้วตั้งยอดนิดหน่อย ก็ถือถาดพิมพ์ตั้งฉากกับพื้นแล้วส่ายซ้ายส่ายขวา ยอดมันก็ยุบตัวจนผิวหน้าเรียบไปเอง (ไม่ต้องพึ่งอีโต้) แสดงว่าคุณภาพของช็อกโกแลตน่าจะมีผลต่อความเหลวเมื่อละลายด้วย ทั้งนี้อาจจะมีปัจจัยอื่น ๆ อีกก็ต้องลองกันต่อไป สรุปว่าคือ ดาร์คช็อกโกแลต 100 กรัมทำใส่พิมพ์เล็กได้ 4 หลุม + พิมพ์ใหญ่ 1 หลุม

5. การแกะออกจากพิมพ์

ไม่ยากอะไร คว่ำพิมพ์แล้วตบก้น ช็อกโกแลตก็หลุดผัวะออกมา ปัญหาอยู่ที่ว่ามันออกมาที 4 ชิ้นเลย โชคดีที่ใช้จานใหญ่หน่อยมารองเลยรับได้หมด จากนั้นก็เอากระดาษฟอยล์ตัดเป็นชิ้นเล็กมาห่อแยกชิ้น เสร็จเรียบร้อย ได้มา 9 ชิ้น (7 ชิ้นเล็กและ 2 ชิ้นใหญ่)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น