หน้าเว็บ

วันพุธที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

เตือนภัยค่ะ

     ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เกษตรกรกลุ่มที่ใช้สารเคมีกำจัดแมลงมีแนวโน้มหรือมีความเสี่ยงที่จะพบความผิดปกติทางคลินิกหรือมีอาการพิษจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และมีแนวโน้มเกิดโรคมะเร็งมากกว่ากลุ่มที่ไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และจากผลการวิจัยยังพบว่าเกษตรกรที่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชจะมีอาการพิษทางระบบประสาทอื่น เช่น อาการอ่อนเพลีย ปวดหัว มึนงง เป็นต้น
เพื่อให้เกิดกระแสของความรู้ความเข้าใจและนำไปสู่การปฏิบัติดูแลสุขภาพของตนเองได้อย่างถูกต้อง กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ริเริ่มโครงการ"เกษตรกรปลอดโรค ผู้บริโภคปลอดภัยสมุนไพรล้างพิษ กายจิตผ่องใส" ขึ้น โดยเป็นความมุ่งหมายที่จะให้ทั้งเกษตรกรและผู้บริโภคทั่วไปปลอดภัยปลอดโรคจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่อยู่ในผักผลไม้ ด้วยความร่วมมือจาก 4 หน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้แก่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมควบคุมโรค กรมสุขภาพจิต และกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
การดำเนินงานในปีนี้ตั้งเป้าหมายดูแลเกษตรกร 840,000 คนทั่วประเทศ ให้ได้รับการตรวจคัดกรองสุขภาพตนเองฟรี โดยมีสำนักงานสาธารณสุขในแต่ละจังหวัดต่างๆ กับอาสาสมัครสาธารณสุขอีกกว่า 8,400 คน ร่วมกันค้นหาเกษตรกรที่มีความเสี่ยงและตรวจเลือดเพื่อหาสารพิษตกค้าง หากพบว่าเกษตรกรมีสารพิษอยู่ในเลือดในระดับที่ไม่ปลอดภัยก็จะรีบดำเนินการรักษาได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ยังมีมาตรการที่จะส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคขึ้นในตลาดขายส่งใหญ่ๆ ในประเทศที่มีอยู่ประมาณ 28 แห่ง ซึ่งจะมีการตรวจติดตามในทุกๆ 3 เดือน อย่างต่อเนื่อง
นพ.สถาพร วงษ์เจริญ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้มีการดำเนินงานกันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการพัฒนาชุดทดสอบอย่างง่ายเพื่อให้สามารถนำมาใช้ป้องกันเฝ้าระวังภัยสุขภาพให้กับผู้บริโภคในพื้นที่ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ซึ่งจะมีการสื่อผ่านไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อจะได้สามารถกระจายการตรวจสอบเฝ้าระวังความปลอดภัยไปยังผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึง ก่อให้เกิดกระบวนการในการพึ่งพาตนเองอย่างง่ายๆ ขึ้นในชุมชน และกระตุ้นให้เกิดความตระหนักในเรื่องของความปลอดภัยต่อสุขภาพกันมากขึ้น
สำหรับบทบาทหน้าที่ ที่ได้มีส่วนเข้าไปร่วมแก้ไขปัญหานี้ นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ บอกว่ากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นอีกหนึ่งภาคส่วนที่เข้ามามีหน้าที่บรรเทาปัญหานี้ โดยการคัดค้นและพัฒนาชุดทดสอบอย่างง่ายขึ้น เช่น ชุดทดสอบสารเคมีกำจัดแมลงในผักผลไม้และธัญพืช เพื่อนำไปใช้ในการตรวจสอบเฝ้าระวังความปลอดภัยในผลิตภัณฑ์จากภาคเกษตร ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในตลาดสด ซุปเปอร์มาเก็ต หรือร้านค้าซึ่งจะมี อสม.ที่ผ่านการฝึกอบรมให้มีความรู้ความสามารถในการใช้ชุดทดสอบเป็นผู้นำไปใช้ในการตรวจสอบเฝ้าระวังในชุมชนของตนเองเพื่อเป็นการปกป้องสุขภาพของทั้งเกษตรกรและประชาชนในชุมชน นอกจากนี้ทางกรมวิทย์ฯ ยังได้ส่งเสริมให้ทั้งผู้ประกอบการ ผู้ผลิตและจำหน่ายได้มีระบบตรวจสอบสารพิษตกค้างในผักและผลไม้ก่อนที่จะนำไปจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค โดยจะมอบป้ายตราสัญลักษณ์รับรองคุณภาพระบบตรวจสอบสารพิษตกค้างในผักสดผลไม้สดให้แก่ผู้ประกอบการที่ผ่านเกณฑ์ ซึ่งเท่ากับเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในเรื่องของความปลอดภัยและเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับตลาดนั้นๆ ด้วย ขณะนี้มีผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองแล้ว 20 แห่งในจำนวนดังกล่าวมีตลาดสดค้าส่ง 3 แห่ง คือ ตลาดศรีเมือง จ.ราชบุรี ตลาดสี่มุมเมือง และตลาดไท จ.ปทุมธานี
ทางด้านนางกณเกศ อารีกุล ผู้บริหารตลาดโพหวาย จ.สุราษฎร์ธานี กล่วเพิ่มเติมว่าปัจจุบันมีตลาดสดหลายแห่งที่ตื่นตัวและคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคมากขึ้น รวมทั้งที่ตลาดโพหวายด้วย นอกจากการปรับปรุงการสุขาภิบาลของตลาดแล้วปัญหาสารเคมีปนเปื้อนในพืชผักผลไม้ ก็เป็นสิ่งที่ตลาดได้ให้ความสำคัญเช่นกัน โดยได้เตรียมประสานกับเทศบาลโพหวาย เพื่อขอรับการสนับสนุนการจัดตั้งจุดรับบริการตรวจสอบความปลอดภัยให้กับสินค้าและผลิตภัณฑ์ด้วยการใช้ชุดทดสอบอย่างง่าย จากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11(สุราษฏร์ธานี) ขึ้นในพื้นที่ของตลาด เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าที่มาจับจ่ายในตลาดโพหวายและกระตุ้นให้พ่อค้าแม่ค้าที่นำผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตรมาขายเกิดการตื่นตัวและใส่ใจในเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภคจากปัญหาสารเคมีตกค้างด้วยและนี่ก็จะเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่จะนำไปสู่กระบวนการในการกำกับดูแล และกระตุ้นให้ผู้ขายเกิดความรับผิดชอบต่อลูกค้า ด้วยการคัดสรรหรือตรวจสอบแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ที่จะต้องมีคุณภาพมาตรฐานและมั่นใจได้ว่าปลอดภัยต่อผู้บริโภค ส่วนตัวของผู้บริโภคเองก็สามารถตรวจสอบได้ และเมื่อตรวจสอบแล้วพบว่ามีความปลอดภัย ผลที่ได้ก็คือตลาดก็จะได้รับการยอมรับ
กระบวนการต่างๆ เหล่านี้ เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพราะสุดท้ายแล้ว สิ่งที่ทุกฝ่ายจะได้รับก็คือความปลอดภัยต่อสุขภาพนั่นเอง..

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น